ยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวง พ.ศ. 2433 ของ ประวัติกระทรวงการคลังไทย

ในปี พ.ศ. 2430 เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จะเสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ไปช่วยงานฉลองรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ครบ 50 ปี ณ สหราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ไปพิจารณาดูแบบอย่างการปกครองของประเทศในทวีปยุโรป เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเสด็จกลับมา ก็ถวายรายงานให้ทรงทราบ ในปี พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้น กำหนดการปกครองส่วนกลางเป็นกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการปกครองของไทยให้ทันสมัย กรมพระคลังมหาสมบัติจึงได้รับการยกฐานะเป็นกระทรวง

พระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.ศ. 109

ใน พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมื่อกรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงแล้ว ตำแหน่งเจ้าพนักงานต่างๆ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ พ.ศ. 2418 ไม่เพียงพอแก่ราชการที่เป็นอยู่ ตำแหน่งและหน้าที่ของผู้จะมารับราชการตามพระราชบัญญัติเดิมนั้น ก็ยังเป็นการบกพร่อง ขาดเกิน ก้าวก่ายไม่เรียบร้อย สมควรจะได้จัดการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแบ่งกรมและตำแหน่งหน้าที่ ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433

พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้กระทรวงมหาสมบัติมีหน้าที่สำหรับ รับ จ่าย และรักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบัญชีพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีรับผิดชอบบังคับราชการในกระทรวงสิทธิ์ขาด ประกอบด้วยกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ 13 กรม ดังนี้

  • กรมเจ้ากระทรวง มี 5 กรมย่อย ได้แก่
    1. กรมพระคลังกลาง มีหน้าที่ประมาณการรับจ่ายเงินแผ่นดินว่าด้วยภาษีอากรและบังคับบัญชาราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทั้งหมด
    2. กรมสารบาญชี มีหน้าที่รับจ่ายเงินแผ่นดินและถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งหมด
    3. กรมตรวจ มีหน้าที่ตรวจบัญชี ตรวจราคา ตรวจรายงานการรับจ่ายเงินแผ่นดิน และสรรพราชสมบัติการภาษีอากรทั้งหมด
    4. กรมเก็บ มีหน้าที่รักษาพระราชทรัพย์ทั้งหมด
    5. กรมพระคลังข้างที่ มีหน้าที่จัดการเงินในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • กรมขึ้น มี 8 กรม แบ่งเป็น 2 แผนก คือ
    • กรมทำการแผ่นดิน มี 3 กรมย่อย คือ
      1. กรมกระสาปนสิทธิการมีหน้าที่ทำเงินตรา
      2. กรมพิมพ์ธนบัตร มีหน้าที่ทำเงินกระดาษและตั๋วตรา
      3. กรมราชพัสดุ มีหน้าที่จัดการซื้อจ่ายของห้างหลวง และรับจ่ายของส่วย
    • กรมเจ้าจำนวนเก็บเงินภาษีอากรมี 5 กรมย่อย คือ
      1. กรมส่วย มีหน้าที่เร่งเงินค่าราชการตัวเลขและค่าธรรมเนียม
      2. กรมสรรพากร มีหน้าที่จัดเก็บเงินอากรต่าง ๆ
      3. กรมสรรพภาษี มีหน้าที่เก็บเงินภาษีต่าง ๆ
      4. กรมอากรที่ดิน มีหน้าที่เก็บเงินอากร ค่าที่ต่าง ๆ
      5. กรมศุลกากร มีหน้าที่เก็บเงินภาษีขาเข้า ขาออก

โดยผลแห่งพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กรมสรรพากรจึงถือเอาวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เป็นวันสถาปนากรมและกรมบัญชีกลางกำหนดให้วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เป็นวันสถาปนากรมตามลำดับ

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติการบินไทย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี